การประชุมผู้บริหารเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว และพิธีลงนามความร่วมมือเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว เป็นกิจกรรมที่ชมรมห้องสมุดสีเขียว ร่วมกับสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี แห่งความร่วมมือของเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว เพื่อสานต่อความร่วมมือก้าวสู่การพัฒนาห้องสมุดที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้เข้าร่วมกิจกรรมลงนามความร่วมมือ โดย ผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา (อาจารย์ ดร.ณัฏฐญา เผือกผ่อง) พร้อมด้วยผู้แทนคณะทำงานบรรณสารสีเขียว ได้แก่ นายบดินทร์ ยางราชย์ นางสาวณัชชา บวรพานิชย์ และนางสาวจันทร์เพ็ญ จุ้ยจงรักษ์ เป็นผู้แทนร่วมพิธีลงนามฯ เมื่อพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2567 เวลา 08.00-16.30 น. ณ ห้องประชุมกำพล อดุลยวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ซึ่งรูปแบบของงานประชุมครั้งนี้ จัดเป็น “Carbon Neutral Event” มีการคำนวณ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และชดเชยจนเป็นศูนย์ โดยชมรมห้องสมุดสีเขียวจะหักเงินจากค่าลงทะเบียนที่ผู้เข้าร่วมงานจ่ายค่าลงทะเบียนไว้ ใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมลดโลกร้อน ได้ทำการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีจำนวนรวม 11 tCO2eq และทำ การชดเชยเรียบร้อยแล้ว
กิจกรรมภายในงาน มีดังนี้ 1) การบรรยายเรื่อง หนึ่งทศวรรษห้องสมุดสีเขียว : บทเรียนและความท้าทาย โดย ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ 2) การเสวนาวิชาการ เรื่อง การขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัย: บทบาทและความร่วมมือ 3) การเสวนา เรื่อง การก้าวสู่ห้องสมุดสีเขียวจากระดับประเทศสู่สากล 4) นิทรรศการทางด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลงานจากอาจารย์และนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่
4.1) บูท “นวัตกรรมขจัดไขมัน Fogitatk” ได้รับรางวัลนวัตกรรม มก. รองชนะเลิศ อันดับ 2 ประเภทบุคลากรจูเนียร์ มนุษย์และสังคม โดย ดร.อรไท สวัสดิชัยกุล สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ช่วยแก้ปัญหาน้ำทิ้งที่เน่าเสีย
4.2) บูท “ทรายแมวชีวภาพจากไบโอชาร์ไผ่ซางนวล (Biochar Cat Litter From White Bamboo)” ได้รับรางวัลนวัตกรรม มก. รองชนะเลิศอันดับที่ 1 เศษเหลือในอุตสาหกรรมตะเกียบ ผลงานนี้จะนำเข้าสู่วิถี “Zero Waste” มีส่วนเชื่อมโยงกับนโยบาย BCG เป็น นโยบายที่พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ว่าการพัฒนา BCG จะมุ่งเน้นการพัฒนาจากทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่เดิมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านกระบวนการผลิตและในการนำไปใช้ซึ่งจะเน้นเป้าหมายรูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรม รวมทั้งเพื่อผลิตทรายแมวทางเลือกที่ปราศจากฝุ่น สำหรับคนรักแมวอีกด้วย
4.3) บูท “ถังหมักขยะอินทรีย์แบบใช้อากาศ” รางวัลงานประกวดนวัตกรรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2566 โดย อาจารย์เมธี จันทโรปกรณ์ อาจารย์สุนทรี ขุนทอง และอาจารย์พรพรรณ พรรณภัทราพงษ์ ถังหมักขยะอินทรีย์แบบใช้อากาศ เพิ่มอัตราการย่อยสลายโดยไม่ต้องกลับกอง การย่อยสลายเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วโดยแบคทีเรียกลุ่มที่ชอบอุณหภูมิสูง ปุ๋ยหมักนำไปใช้ได้ภายในระยะเวลา1-2 เดือน
4.4) บูท “นวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงบูรณาการ (IPDI) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์” การบูรณาการองค์ความรู้ ทั้งทางศิลปะ วิยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจนเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในการสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจผลิตภัณฑ์โดยอาศัยหลักและความตระหนักในความยั่งยืนในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
4.5) บูท “สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” จัดแสดงผลงาน Green Library Virtual Tour ผลงาน DIY สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้จากสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Ebook ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม รวมทั้ง SDGs
4.6) บูท สำนักพิมพ์ Gale* นำเสนอผลิตภัณฑ์และฐานข้อมูลด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม



