แนวทางเชิงปฏิบัติ (10 คะแนน)
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้ดำเนินโครงการห้องสมุดสีเขียวตามแผนงานที่กำหนด โดยมีผู้บริหารและบุคลากรของศูนย์บรรณสารฯ เป็นผู้ขับเคลื่อน มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของอาคารบรรณสาร เพื่อจัดสภาพแวดล้อมที่ดีในพื้นที่ทำงานและพื้นที่ให้บริการ เพื่อให้บุคลากรศูนย์บรรณสารฯ และผู้ใช้บริการเกิดความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม มีความรู้ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยผ่านมาตรการและกิจกรรมที่กำหนด มีการรณรงค์ให้ผู้ใช้บริการดำเนินการตามมาตรการอย่างต่อเนื่อง สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ใช้บริการ และบุคลากรของศูนย์บรรณสารฯ ก่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม เกิดการปฏิบัติที่ส่งผลต่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีการติดตามและรายงานผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาปรับตัวชี้วัดในปีถัดไป ซึ่งในการดำเนินงานได้มีการประเมินประสิทธิภาพด้านต่างๆ ดังนี้
รายงานสรุปผลการดำเนินงานห้องสมุดสีเขียว
ปีพ.ศ.2563 ปีพ.ศ.2564 ปีพ.ศ.2565 ปีพ.ศ.2566
ในการดำเนินงานได้มีการประเมินประสิทธิภาพด้านต่างๆ ดังนี้
8.1 ประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสม
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้ดำเนินการประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสม (EUI) โดยมีการรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ปีพ.ศ.2561-ปัจจุบัน จำแนกเป็นรายเดือน รายปีและนำมาประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสม Energy Utilization Index (EUI) เพื่อประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อปรับปรุงและจัดทำแผนและมาตรการประหยัดพลังงาน ซึ่งศูนย์บรรณสารฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายประหยัดและมาตรการประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยให้นักศึกษากลับเข้าพื้นที่ รวมทั้งมีการเปิดพื้นที่ให้บริการภายในห้องสมุดทั้งหมด และในช่วงก่อนสอบและช่วงสอบเปิดให้บริการถึงเที่ยงคืน ทําให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น
อนึ่ง ระบบไฟฟ้าและระบบปรับอากาศของศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา เป็นแบบรวมสวิตช์ เมื่อเปิดหนึ่งสวิตช์จะทําให้หลอดไฟฟ้าติดหลายหลอดพร้อมกัน หรือการเปิดเครื่องปรับอากาศหนึ่งตัวเพื่อทําให้อากาศเย็นทั้งโซนแต่เมื่อเทียบกับปริมาณผู้ใช้อาคารที่มีปริมาณไม่มาก จึงทําให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้หลอดไฟฟ้าบางจุดยังไม่ได้ดำเนินการติดตั้งสวิตช์กระตุก แต่ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ได้มีมาตรการประหยัดพลังงาน เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น กําหนดการเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศเป็นเวลา มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้อาคารประหยัดไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ และมีการตรวจสอบตรวจเช็ค และรายงานผลต่อคณะทำงานบรรณสารสีเขียวเป็นประจำ
8.2 ประเมินประสิทธิภาพการจัดการขยะ
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีการดำเนินการจัดการขยะโดยเลือกวิธีการจัดการที่เหมาะสม ลดปริมาณขยะ (reduce) การใช้ซ้ำ (reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) มีการตรวจสอบความถูกต้องในการคัดแยกและบันทึกปริมาณขยะ มีพื้นที่รวบรวมขยะก่อนส่งกำจัดและมีวิธีการส่งกำจัดที่เหมาะสมสำหรับขยะแต่ละประเภท ซึ่งมีจัดเก็บข้อมูลขยะรายเดือน ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2561-ปัจจุบัน แยกประเภทขยะเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ กระดาษ พลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง ขยะทั่วไป เศษอาหาร
นอกจากนี้ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษามีแผนการลดปริมาณขยะและของเสีย โดยจัดกิจกรรมลดของเสียให้เป็นศูนย์ รณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การลดปริมาณขยะและของเสียให้กับบุคลากรและผู้รับบริการ มีการกำหนดมาตรการลดการเกิดขยะภายในพื้นที่ทำงานของบุคลากร มีขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติตามมาตรการลดการเกิดขยะภายในพื้นที่ทำงานของบุคลากร มีการดำเนินกิจกรรม 5ส กิจกรรม Big Cleaning Day ส่งเสริมการคัดแยกขยะให้ถูกวิธี มีการดำเนินกิจกรรม DIY ที่นำวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นของใช้ใหม่เพื่อลดขยะที่ต้องส่งกำจัด เช่น กิจกรรม DIY by waste materials กิจกรรม Recycle for friends
8.3 ประเมินประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มีการดำเนินการจัดการน้ำเสียโดยใช้ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของมหาวิทยาลัย มีการวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ซึ่งส่วนอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบดูแลและตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียทั้งหมด มีการเลือกใช้น้ำยาทำความสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีถังดักไขมันในอาคารจำนวน 1 จุด ก่อนที่จะปล่อยน้ำไปสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีมาตรการประหยัดการใช้น้ำเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังมีการนำน้ำเสียที่ผ่านระบบการบำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยนำกลับมาใช้ในห้องน้ำ หรือใช้รดต้นไม้ ทำให้ปริมาณการใช้น้ำประปาของศูนย์บรรณสารฯ มีปริมาณที่ลดลง
8.4 ประเมินประสิทธิภาพการจัดการมลพิษทางอากาศ
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มีการดำเนินงานและการจัดการมลพิษทางอากาศตามเกณฑ์ห้องสมุดสีเขียว มีการจัดพื้นที่และสภาพแวดล้อมภายในอาคารให้อากาศหมุนเวียนและถ่ายเทสะดวก รวมทั้งมีการกำหนดให้ห้องสมุดเป็นเขตปลอดบุหรี่ มีการบำรุงดูแลรักษาระบบปรับอากาศโดยส่วนอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบ โดยส่วนอาคารสถานที่มีแผนการบำรุงดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศประจำทุกปี มีการจัดชั้นหนังสือและพื้นที่นั่งอ่านให้มีอากาศหมุนเวียนและถ่ายเทโดยสะดวก มีมาตรการการจัดการมลพิษทางอากาศ เช่น มีการกำจัดฝุ่นบนชั้นหนังสืออย่างสม่ำเสมอ และเช็ดทำความสะอาดโต๊ะนั่งอ่านทุกวัน มีการติดตั้งเครื่องดูดความชื้นทุกชั้น ตลอดจนการบำรุงรักษาและล้างเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุกปี มีการดำเนินกิจกรรม 5ส อย่างสม่ำเสมอ กิจกรรม Big Cleaning Day เพื่อให้พื้นที่บริการและพื้นที่สำนักงานสะอาด
อีกทั้งการวัดค่าฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศภายในห้องสมุดโดยร่วมมือกับสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ให้นักศึกษามาวัดค่าฝุ่นละออง เชื้อรา แสงสว่าง
นอกจากนี้มีการดำเนินการแก้ไขตามข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ เรื่องมูลนกพิราบบริเวณระเบียงรอบอาคาร ศูนย์บรรณสารฯ ได้ดำเนินการกวาดและทำความสะอาดมูลนกพิราบ และทำหนังสือให้ส่วนอาคารสถานที่ติดตั้งตาข่ายกั้นนกพิราบ เพื่อมิให้นกพิราบมาเกาะบริเวณระเบียงรอบอาคาร
8.5 ประเมินประสิทธิภาพการจัดการก๊าซเรือนกระจก
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง การใช้น้ำ กระดาษ และของเสีย เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีพ.ศ.2561-ปัจจุบัน และนำมาข้อมูลมาคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามสูตรการคำนวณขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบในแต่ละปี รวมทั้งมีการกำหนดเป้าหมายของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
8.6 การประเมินผลสัมฤทธิ์การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมโดยมีการประเมินผลสัมฤทธิ์การจัดกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าว โดยการใช้แบบสอบถาม แบบทดสอบความรู้ และแบบประเมินความพึงพอใจ ซึ่งผลการประเมินการจัดกิจกรรมในแต่ละกิจกรรมได้นำไปวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนการส่งเสริมการเรียนรู้และปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป ดังนี้
ปี พ.ศ.2563
วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2562 นำบุคลากรไปศึกษาดูงานห้องสมุดสีเขียวต้นแบบที่มีสมรรถนะการบริหารงานและดำเนินการห้องสมุดสีเขียวที่ประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลการตรวจประเมินห้องสมุดสีเขียว ระดับดีเยี่ยม คือ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เชิญวิทยากร นางสาวธนาภรณ์ ฉิมแพ จากสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มาเป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เกณฑ์การพัฒนาห้องสมุดสีเขียว” ณ ห้องบรรณสารสาธิต อาคารบรรณสาร ชั้น 4 เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการดำเนินงานห้องสมุดสีเขียว ให้แก่บุคลากรของศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา
วันที่ 3-4 ธันวาคม 2562 มีกิจกรรม SUT Green Library Fair เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรียนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยในงานมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี
วันที่ 5 มิถุนายน 2563 กิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2563 ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้จัดกิจกรรม “ปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ ศบส.” และ “การทำน้ำหมักชีวภาพ” ณ บริเวณสวนด้านข้างอาคารบรรณสาร โดยมีผู้บริหาร คณะทำงานโครงการห้องสมุดสีเขียว และบุคลากรศูนย์บรรณสารฯ เข้าร่วม จำนวน49 คน นอกจากนี้ได้ส่งผู้แทนร่วมปลูกต้นไม้บริเวณหอพักนักศึกษา และร่วมปั่นจักรยานเพื่อรณรงค์การประหยัดพลังงาน ในกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลก ของมหาวิทยาลัยด้วย
วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2563 โครงการห้องสมุดสีเขียวจัดกิจกรรมจัดการความรู้เรื่อง “การจัดการขยะด้วย วิธีการ 3R” ณ ห้องประชุมอาคารบรรณสาร ชั้น 1 และผ่านโปรแกรม ZOOM มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 44 คน โดยนายณัฐพล เขตกระโทก พนักงานบริการโสตทัศนูปกรณ์ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาเป็นผู้ให้ความรู้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับบุคลากรของศูนย์บรรณสารฯ
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม อื่นๆ เช่น การอบรมให้ความรู้ การสืบค้นฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ใช้บริการผ่านระบบออนไลน์ การจัดมุมทรัพยากรสารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อม การประชุมชี้แจงนโยบายการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการ เป็นต้น
ปี พ.ศ.2564
วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 การอบรมออนไลน์ เรื่อง พลังงานหมุนเวียน จัดโดยสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันพุธที่ 14 กรกฎาคม 2564 การอบรมออนไลน์ เรื่อง โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลการใช้เครื่องมือระบบรายงานการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเมืองและชุมชน (Green area) เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรทางบก (พื้นที่สีเขียว) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564 การอบรมออนไลน์ เรื่อง กิจกรรมส่งเสริมห้องสมุดสีเขียว จัดโดยสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
วันที่ 6-10 กันยายน 2564 ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาจัดงาน SUT LIBRARY GREEN WEEK โดยมีกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ วันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2564 กิจกรรมการแลกเปลี่ยนรู้เรื่อง การจัดการและคัดแยกขยะสำนักงานอย่างถูกวิธี มีผู้เข้าร่วมจำนวน 159 คน เป็นบุคลากรศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา 56 คน, บุคคลภายนอก 103 คน มีการแลกเปลี่ยนความรู้การจัดการและคัดแยกขยะสำนักงานอย่างถูกวิธี ให้กับบุคลากร ศบส. และบุคลากรของหน่วยงานภายนอกผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) การประกวดคำขวัญอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม, ประกวดสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้, ปลูกผักสวนครัวอายุสั้น #2, บรรณสารทำแบบนี้ … น่าจะดีน๊า, Recycle for Friend, Big Cleaning Day, การจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้
มีการจัดกิจกรรมให้บุคลากรห้องสมุด ผู้รับบริการ ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมและมีส่วนในการแสดงความคิดเห็น การจัดมุมทรัพยากรสารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อม การประชุมชี้แจงนโยบายการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการ เป็นต้น
ปี พ.ศ.2565
วันที่ 2 มิถุนายน 2565 กิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2565 ณ อาคารบรรณสาร ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ กิจกรรมแชร์ไอเดียเพื่อปรับปรุงอาคารบรรณสาร กิจกรรมรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม 100% กิจกรรมปลูกต้นไม้และปรับปรุงพื้นที่สีเขียวบริเวณโถงอ่านหนังสือและพื้นที่รอบอาคารบรรณสาร และกิจกรรม ศบส.ร่วมมือร่วมใจพับถุงใส่ยามีผู้บริหารและบุคลากรศูนย์บรรณสารฯ เข้าร่วมจำนวน 53 คน
วันที่ 31 สิงหาคม 2565 จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “ก๊าซเรือนกระจก” ณ ห้องบรรณสารสาธิต อาคารบรรณสาร เพื่อให้บุคลากรศูนย์บรรณสารฯ ได้รับความรู้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก เรียนรู้ตัวอย่างกิจกรรมการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปใช้ดำเนินกิจกรรมของศูนย์บรรณสารฯ ได้ วิทยากรโดยรองศาสตราจารย์ ดร.บุญชัย วิจิตรเสถียร หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นวิทยากร มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 57 คน
รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมให้บุคลากรห้องสมุด ผู้รับบริการ ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมและมีส่วนในการแสดงความคิดเห็น การแนะนำทรัพยากรสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงาน การประชุมชี้แจงนโยบายการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการ เป็นต้น
จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับผู้รับบริการและบุคลากรศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน เป็นการสร้างความตระหนักและปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่น การใช้น้ำ การใช้ไฟฟ้า กระดาษ การลดปริมาณขยะ โดยศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษามุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน