ด้วยจิตสำนึกและความมุ่งมั่นดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้มีความสอดคล้องตามเกณฑ์สำนักงานสีเขียว (Green Office) และห้องสมุดสีเขียว (Green Library) สนับสนุน ส่งเสริมให้ศูนย์บรรณสารฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การลดปริมาณการปลอดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประหยัดน้ำ การจัดการขยะและของเสีย การจัดหาทรัพยากร ปรับปรุงการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงกำหนดกิจกรรมเครือข่ายการเรียนรู้ เช่น การเข้าร่วมฝึกอบรม การแนะนำให้ความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงประสบการณ์ การสนทนาระหว่างกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของศูนย์บรรณสารฯ จากการมีส่วนร่วมในเครือข่ายการเรียนรู้ ทำให้บุคลากรได้รับความรู้ดังนี้                  

  1. การบริหารคุณภาพพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นความรู้ที่ได้รับจากการมีส่วนร่วมจัดการระบบคุณภาพด้านอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยการวางแผน การบริหารงานบุคคล การบริหารความเสี่ยง การสื่อสาร คณะกรรมการ ความร่วมมือ หน่วยงานและองค์กรด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม การติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และ ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามแนวคิดการบริหารคุณภาพ PDCA
  2. การจัดการอาคารแบบยั่งยืน เป็นความรู้ที่ได้รับจากการมีส่วนร่วมจัดการโครงสร้างพื้นฐาน โดยการปรับปรุง ซ่อมแซมกรอบอาคาร โครงสร้างสถาปัตยกรรมหรือวัสดุประกอบอาคาร การจัดสภาพแวดล้อมและพื้นที่ภายในและภายนอกอาคารให้มีความน่าอยู่ ได้แก่ การจัดการพื้นที่ทำงาน พื้นที่ใช้สอยของสำนักงาน การจัดภูมิทัศน์เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ การตรวจวัดความเข้มของแสงสว่าง เสียง อุณหภูมิ การจัดวัสดุ อุปกรณ์ให้มีความเหมาะสมในการปฏิบัติงาน และใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  3. การจัดการทรัพยากรและอนุรักษ์พลังงาน การจัดการทรัพยากร เป็นความรู้ที่ได้รับจากการมีส่วนร่วมจัดซื้อสินค้า/วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การแจกจ่ายและขนส่ง การใช้วัสดุสิ้นเปลือง การใช้กระดาษอย่างประหยัด การนำกลับมาใช้ใหม่ การจัดเศษซากหลังใช้งาน การจัดจ้างหรือเลือกใช้บริการสถานที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่วนการอนุรักษ์พลังงาน เป็นความรู้ที่ได้รับจากการมีส่วนร่วมดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายพลังงานการจัดการพลังงาน และการใช้พลังงาน
  4. อนามัยสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย และความปลอดภัย เป็นความรู้ที่ได้รับจากการมีส่วนร่วมควบคุมสิ่งแวดล้อมในอาคาร อาชีวอนามัย โรคจากการทำงาน ปฐมพยาบาล ตรวจสุขภาพ การยศาสตร์ การจัดการของเสีย ได้แก่ การจัดการขยะ คุณภาพน้ำ อากาศ และมลพิษ การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม นโยบายและแผนงานความปลอดภัย เหตุฉุกเฉิน อุบัติเหตุ การทำงานกับสารเคมี ไฟฟ้า เครื่องมือและเครื่องมือกล เครื่องจักรในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและเย็น
  5. การให้บริการห้องสมุดและการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม การให้บริการห้องสมุดเป็นความรู้ที่ได้รับจากการมีส่วนร่วมการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ ได้แก่ การจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ การวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ การซ่อมบำรุงทรัพยากรสารสนเทศ สารสนเทศท้องถิ่นนครราชสีมา จดหมายเหตุของมหาวิทยาลัย การให้บริการสืบค้น บริการยืมระหว่างห้องสมุด แลกเปลี่ยนและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสารสนเทศ ส่วนการส่งเสริมการเรียนรู้ ได้แก่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และการรู้สารสนเทศ การฝึกอบรมหรือการพัฒนาความรู้ที่สอดคล้องและตรงกับความต้องการของผู้รับบริการ