1. นวัตกรรมทางความคิดแบบหมวกสีเขียว

            นวัตกรรมทางความคิดแบบหมวกสีเขียว หมายถึง การคิดสร้างสรรค์แบบเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ โดยคิดจากพื้นฐานการเรียนรู้หรือความรู้เดิม ประสบการณ์เดิมที่เคยให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมรอบปีที่ผ่าน และนำมาพิจารณาร่วมกับสภาพการณ์ใหม่ เพื่อให้ได้แนวคิดเชิงออกแบบกิจกรรมด้านอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบันและมีความยั่งยืน เช่น การนำจุลินทรีย์สังเคราะห์ที่เป็นผลงานของการดำเนินกิจกรรมปี 2563 ไปใส่ต้นลิ้นมังกรหรือต้นมะกรูด ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เทรนด์การปลูกต้นไม้เป็นกิจกรรมที่กำลังได้รับความนิยม เมื่อต้นลิ้นมังกรหรือต้นมะกรูดแตกต้นใหม่ ก็มีแนวคิดนำต้นไม้มา “แบ่งปันกันปลูก” เพื่อให้ศูนย์บรรณสารฯ เป็นชุมชนสีเขียว (Green community) ให้มีความร่มรื่นย์ น่าอยู่ อากาศสดชื่นปลอดมลพิษ และได้ใช้ประโยชน์จากพืชที่ปลูก เช่น ดอกอัญชัน ใบมะกรูด ใบเตย

นอกจากนี้ยังทำให้เกิดกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่

            – การเข้าร่วมฝึกอบรมออนไลน์หัวข้อ โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลการใช้เครื่องมือระบบโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลการใช้เครื่องมือระบบรายงานการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเมืองและชุมชน (Green area) เพื่อเรียนรู้การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล วางแผนการดูแล การใช้งานระบบรายงานการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการคำนวณการชดเชยคาร์บอน

            – การทำแบบจำลอง (Prototype) การปลูกต้นไม้ดูดสารพิษในกระถางที่ทำมาจากแก้วกาแฟและถ้วยร้อนอาหารกึ่งสำเร็จรูปพลาสติก ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในสำนักงาน และลดปริมาณขยะพลาสติกด้วยการนำกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งขยะพลาสติกกำลังเป็นปัญหาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อสังเกตและทำความเข้าใจผู้ที่มีส่วนร่วมในการทำแบบจำลอง จากการทดลองสร้าง Content นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้แบบสั้นๆ และผู้สร้างสรรค์ โดยสแกนอ่านผ่าน QR Code การนำต้นไม้จากแบบจำลองไปมอบให้ผู้ที่มีความต้องการต้นไม้พบว่า สามารถสร้างแรงจูงใจและความภาคภูมิใจให้กับผู้ปลูกต้นไม้ รวมทั้งทำไห้ผู้ได้รับต้นไม้มีความพึงพอใจ ส่วนการติดตามผลพบว่า ต้นไม้มีการเจริญเติบโตสวยงาม

            – การสร้างรายการโยงคำค้นให้กับหัวเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับต้นไม้เพิ่ม เพื่อสร้างเชื่อมั่นในคุณภาพของการเข้าถึงสารสนเทศ และให้ผู้รับบริการได้สืบค้นสารสนเทศเกี่ยวกับต้นไม้และการปลูก ผ่านหน้า SUTCat ได้ครอบคลุมและถูกต้อง เช่น ต้นไม้ การปลูกต้นไม้ ต้นไม้ดูดสารพิษ ได้แก่ เยอบีร่า ว่านหางจระเข้ เบญจมาศ เฟิร์น พืชอวบน้ำ ได้แก่ กระบองเพชร (แคคตัส) ไม้ดอก เป็นต้น

            – การพัฒนารูปแบบดำเนินงานโครงการบรรณสารสีเขียว เป็นการคิดเชิงบูรณาการในการรวมรูปแบบดำเนินงานโครงการสำนักงานสีเขียวและห้องสมุดสีเขียวที่มีเกณฑ์ ข้อกำหนด วิธีดำเนินกิจกรรมที่ทับซ้อน คาบเกี่ยวกันหลายกิจกรรรม และมีเกณฑ์การตรวจประเมินคล้ายคลึงกัน เพื่อให้ศูนย์บรรณสารฯ สามารถดำเนินงานทั้งสองโครงการควบคู่ไปพร้อมกัน และสามารถตรวจประเมินให้สอดคล้องได้ทั้งสองเกณฑ์ฯ จึงพัฒนารูปแบบดำเนินงานโครงการบรรณสารสีเขียวขึ้น โดยใช้วิธีดำเนินงานวิจัย และร่วมมือกับภาควิชาสาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ให้นักศึกษาโครงการ สหกิจศึกษาร่วมศึกษากับบุคลากรศูนย์บรรณสารฯ ซึ่งผลการศึกษาทำให้ศูนย์บรรณสารฯ ได้ Green Model และ (ร่าง) คู่มือดำเนินงานโครงการบรรณสารสีเขียว ส่วนนักศึกษาได้ความรู้และนำความรู้การวิจัยเอกสารเกณฑ์ ข้อกำหนด สำนักงานสีเขียวและห้องสมุดสีเขียว วิธีวิเคราะห์ขอบเขตโครงการฯ ไปนำเสนอในชั้นเรียนและเผยแพร่ต่อภาควิชาฯ